ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 พ.ค.นี้ คาดว่าจะมีการ พิจารณาแนวทางมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบ ชุดใหญ่ โดยแนวทางการช่วยเหลือจะมีทั้งมาตรการทางการคลัง การเงิน และการลดค่าครองชีพ เช่น การเพิ่มเงินภายใต้มาตรการ คนละครึ่ง เราชนะ แต่จะไม่ให้วงเงินเท่าเดิม (เดิม คนละครึ่ง ให้คนละ 3,500 บาท ส่วน เราชนะ ให้คนละ 7,000 บาท) การลดค่าน้ำ ค่าไฟ โดยหลังจาก ครม.เห็นชอบแล้ว ให้แต่ละหน่วยงานกลับไปทำรายละเอียด เพื่อให้มีผลช่วยเหลือในเดือน มิ.ย. หรืออย่างช้าเดือน ก.ค.2564 รวมทั้งอาจเปิดให้ลงทะเบียน คนละครึ่ง เพื่อรับสิทธิเพิ่มได้อีก จากปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิ 14.79 ล้านคน
นอกจากนี้ จะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปล่อยกู้ฉุกเฉินให้ชาวบ้านวงเงินอีกกว่า 10,000 ล้านบาท และขยายเวลาพักหนี้ให้ผู้เดือดร้อน สำหรับวงเงินที่ใช้จะยังอยู่ในกรอบ พ.ร.ก.กู้เงิน ที่ปัจจุบันเหลือ 230,000 ล้านบาท
ส่วนมาตรการลดค่าไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน เสนอดำเนินการเป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย.เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน ที่กำลังประสบปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 หรือระลอกเดือน เม.ย.นี้ โดยการดำเนินการดังกล่าว คาดว่าจะใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเงินของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ตามกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และเป็นมาตรการเดียวกับการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าไฟฟ้าที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยมาตรการลดค่าไฟฟ้าในครั้งนี้จะใช้ค่าไฟฟ้าฐาน หรือค่าไฟที่ประชาชนจ่ายของเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ในการคำนวณการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ จะแบ่งเป็น 3 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ประเภท 1.1 (ระบุไว้ที่หน้าบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้า) ได้รับค่าไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก รวมค่าบริการ โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เดือน พ.ค-มิ.ย.นี้ ขณะที่มาตรการที่ 2 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ประเภท 1.2 และ 1.3 ได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือน พ.ค.-มิ.ย.
โดยแบ่งเป็น 2 กรณีย่อย กรณีแรก หากการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิ มีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า หรือเท่ากับหน่วยประจำเดือน เม.ย. (เดือนฐาน) ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับการคิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงประจำเดือนนั้นๆ แต่หากเป็นกรณีการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิ มีจำนวนหน่วยมากกว่าเดือน เม.ย. (เดือนฐาน) ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้า ก่อนการคำนวณแวต ซึ่งมีแนวดำเนินการดังนี้ 1.หากการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิ ไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดหน่วยเท่ากับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือน เม.ย. 2.หากการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนที่ได้รับสิทธิมากกว่า 500 หน่วย แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วย ให้คิดหน่วยเท่ากับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือน เม.ย. บวกด้วยหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. ในอัตรา 50% 3.หากการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนได้สิทธิ มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดหน่วยเท่ากับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือน เม.ย. บวกด้วยหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. ในอัตรา 70% ขณะที่ มาตรการที่ 3 เป็นมาตรการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดเล็ก ประเภท 2.1 และ 2.2 (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) โดยได้รับค่าไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก (รวมค่าบริการ) โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณแวต
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดพลังงาน กล่าวว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน เช่น โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บริษัท ปตท.ไปร่วมกันพิจารณาแนวทางต่างๆ ทั้งการช่วยเหลือประชาชน และเร่งลงทุนในหน่วยงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ