ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (31 มี.ค.64) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,348 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,419 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 13,871 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา
(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,417 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 2,748 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,082 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 63/64 เป็นไปตามแผน มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งนี้ และมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน
จากการคาดการณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา ว่า ฝนปีนี้จะมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีฝนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ และจะมีปริมาณฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี จึงได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมตรวจสอบสภาพอ่างเก็บน้ำและอาคารชลประทานต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ
นอกจากนี้ ยังเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที และได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้แล้วเสร็จ ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และเป็นไปตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดีการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนั้น เหลือเวลาอีกเพียง 30 วันจะสิ้นสุด พบว่าปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปีนี้ นั้นมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด–19" ทำให้เกิดการว่างงาน ส่งผลให้มีการเพาะปลูก (นอกแผน) เพิ่มขึ้นถึงจำนวน 2.79 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวได้ทำการเก็บเกี่ยวไปกว่าครึ่งแล้ว และไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการน้ำที่เป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย การอุปโภค – บริโภค รักษาระบบนิเวศ และภาคการเกษตร นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยจะมีการปรับแผนการเพาะปลูกในทุ่งบางระกำประมาณ 265,000 ไร่ โดยจะให้เริ่มเพาะปลูกในวัน 1 เมษายน 2564 เพื่อสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนเดือนสิงหาคม ซึ่งกรมชลประทานจะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงในช่วงเดือนปลายเดือนสิงหาคม ในกรณีที่ลำน้ำยมมีน้ำส่วนเกิน เพื่อป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดสุโขทัย
ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดที่ว่างเว้นจากการเพาะปลูก เนื่องจากรอเริ่มต้นเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน สามารถเข้าร่วมโครงการจ้างงานกับทางชลประทานได้ เพื่อสร้างรายได้ในช่วงว่างเว้นจากการเพาะปลูก โดยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่สำนักงานชลประทานในภูมิลำนำ นอกจากนี้หากเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือ ปรึกษาหรือแจ้งปัญหาความเดือดร้อนด้านการใช้น้ำ สามารถติดต่อ กรมชลประทานในพื้นที่ หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460
ขอขอบคุณที่มาจาก: กรมชลประทาน